สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน
122/10 ถ.ขุนลุมประพาส ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
โทรศัพท์ : 05 361 1376 Email : ms4@moc.go.th
วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 14.00 น. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศ–การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 และ 4 เดือนแรกของปี 2566 พร้อมด้วย นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ที่ห้องบุรฉัตรไชรยากร ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
.
การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (737,788 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 7.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 6.8 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน ตรงข้ามกับสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกผลไม้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยกลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23 ทั้งนี้ การส่งออกไทย 4 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 5.2 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.3
.
มูลค่าการค้ารวม
.
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนเมษายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,195.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.3 ดุลการค้า ขาดดุล 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 92,003.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.2 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 4,516.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
.
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท
เดือนเมษายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 737,788 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 797,373 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.4 ดุลการค้า ขาดดุล 59,584 ล้านบาท ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 3,110,977 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 3,305,763 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.8 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 194,786 ล้านบาท
.
การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป
.
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวก การส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ
(1) - การดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 เร่งระบายผลผลิตจากแหล่งผลิตออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และรักษาราคาผลไม้ ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ด้วยโครงการ “อมก๋อยโมเดล” และโครงการ “Fruit Festival 2023” รวมถึงติดตามสถานการณ์ส่งออกผลไม้ผ่านด่านชายแดนทางบกเข้าสู่จีนผ่านด่านโหยวอี้กวนและด่านโมฮานของจีน
(2) - การนำคณะผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อขยายตลาด โดยนำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน Top Thai Brands Hainan 2023 ที่มณฑลไห่หนานของจีน ซึ่งได้นำกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์รวมจัดแสดงในงาน ได้แก่ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนตัว ยา เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ของขวัญและตกแต่ง สินค้าหัตถกรรม เสื้อผ้าแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับเงิน เป็นต้น
(3) - ผลักดันตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมมอบนโยบายปฏิบัติงานแก่ทูตพาณิชย์จากทั่วโลก ร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และผู้แทนภาคเอกชน เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออก โดยจะเพิ่มกิจกรรมเจาะตลาดเป้าหมาย 350 กิจกรรม ใน 7 ภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 19,250 ล้านบาท นอกจากนี้ จะร่วมมือกับภาคเอกชน ตั้งคณะทำงานเป็นรายกลุ่มคลัสเตอร์ หรือกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินการส่งออก หามาตรการรองรับ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยยังยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 1 – 2 ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานที่มีความท้าทายและเป็นไปได้
.
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้
.
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tpso.moc.go.th/international_trade